วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

องค์ประกอบของดนตรี

1.3 องค์ประกอบของดนตรี
         องค์ประกอบของดนตรี คือ ส่วนสำคัญพื้นฐานที่ทำให้เกิดเป็นดนตรีขึ้น ทั้งนี้โดยจะกล่าวถึงองค์ประกอบของดนตรีโดยรวม มิได้ยึดเอาหลักเกณฑ์ของดนตรีใดเป็นมาตราฐาน องค์ประกอบของดนตรีที่สำคัญประกอบไปด้วยปัจจัยเหล่านี้คือ เสียง ทำนอง เสียงประสาน จังหวะ และรูปแบบของดนตรี 
1.3.1 เสียง (Tone)         เป็นการยากที่จะกล่าวหรือระบุได้ว่าดนตรีเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานมาอ้างอิงได้อย่างแน่ชัด จึงได้แต่เพียงสันนิษฐานและตั้งข้อสังเกตจากโบราณวัตถุหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยสันนิษฐานตามหลักการและเหตุผล และคำนึงถึงความเป็นไปได้มากที่สุด ข้อสันนิษฐานที่เกี่ยวกับกำเนิดของดนตรีมีดังนี้
        
ลักษณะเสียงที่เรียกว่า Tone นั้นจะมีความแตกต่างไปจากเสียงที่มีความหมายว่า Noise เนื่องจากลักษณะของการเกิดเสียงที่เรียกว่า Tone นั้นเกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศอย่างสม่ำเสมอ ส่วนเสียงในความหมายว่า Noise นั้นเกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศที่ไม่สม่ำเสมอ เสียงดนตรีไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากการเป่า การร้อง การดีด หรือการสี จะเป็นลักษณะเสียงที่เรียกว่า Tone เพราะการสั่นสะเทือนเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
     เสียงประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญ 4 ประการคือ ระดับเสียง ความสั้นยาวของเสียง ความดังเบาของเสียง และสีสันของเสียง
ระดับเสียง (Pitch)
               
ระดับเสียง หมายถึง ความสูงต่ำของเสียงในเชิงภายภาพ หากความถี่ของการสั่นสะเทือนเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดเสียงสูง ถ้าความถี่ของการสั่นสะเทือนเป็นลักษณะช้า จะทำให้เกิดเสียงต่ำ หูของมนุษย์สามารถแยกเสียงตั้งแต่ระดับความถี่ของการสั่นสะเทือน 16 ครั้ง / วินาที จนถึง 20,000 ครั้ง / วินาที
ความสั้น - ยาวของเสียง (Duration)
               
เสียงดนตรีจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของความสั้นยาวของเสียง กล่าวคือบางครั้งเราจะได้ยินลักษณะของการลากเสียงยาวๆ หรือบางครั้งก็จะเป็นลักษณะห้วนๆสั้นๆ ความแตกต่างกันในลักษณะนี้เรียกว่า ความสั้น - ยาวของเสียง
ความดัง - เบาของเสียง (Dynamics)
               
เสียงดนตรีจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของความดัง - เบาของเสียงเช่นกัน กล่าวคือบางครั้งเราจะได้ยินการบรรเลงเพลงที่มีเสียงดัง อึกทึกครึกโครม ตรงกันข้ามบางครั้งก็จะได้ยินเสียงดนตรีที่นุ่มนวล หรือแผ่วเบา ลักษณะของการเกิดเสียงแบบนี้เรียกว่า ความดัง - เบาของเสียง
ความดัง - เบาของเสียง อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะเบาหรือดังขึ้นทันทีทันใด หรืออาจจะเป็นลักษณะค่อยๆเบาลงหรือค่อยๆดังขึ้น ในดนตรีตะวันตกจะมีการบอกหรือแสดงเครื่องหมายไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องบรรเลงอย่างไร โดยใช้อักษรย่อจากคำเต็มในภาษาอิตาเลียน ได้แก่                             
                       fff      มาจากคำว่า   fortississimo     หมายถึง  ดังที่สุด
                       ff       มาจากคำว่า   fortissimo          หมายถึง  ดังมาก
                       f        มาจากคำว่า   forte                   หมายถึง  ดัง
                       mf     มาจากคำว่า   mezzo forte       หมายถึง  ปานกลางค่อนข้างดัง
                       mp    มาจากคำว่า   mezzo piano     หมายถึง  ปานกลางค่อนข้างเบา
                       p       มาจากคำว่า   piano                 หมายถึง   เบา
                       pp     มาจากคำว่า   pianissimo        หมายถึง   เบามาก
                       ppp   มาจากคำว่า   pianississimo   หมายถึง   เบาที่สุด


  
               และยังมีสัญลักษณ์ที่แสดงถึงลักษณะเสียงที่ค่อยๆดังขึ้น เรียกว่า Crescendo และค่อยๆเบาลง เรียกว่า Decrescendo อีกด้วย 
                   ในวัฒนธรรมดนตรีอื่นๆอาจจะไม่ได้มีเครื่องหมายแสดงลักษณะเสียงที่ชัดเจน แต่การบรรเลงจะเป็นไปในลักษณะของการใช้ความรู้สึกเป็นตัวกำหนด
                   สีสันของเสียง (Tone Color) 
                   สีสันของเสียง (Tone Color หรือ Timbre) หมายถึง ความแตกต่างของเสียงซึ่งมาจากแหล่งกำเนิดเสียงที่ต่างกัน ซึ่งได้แก่เสียงของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ รวมไปถึงเสียงร้องของมนุษย์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในบทเพลงๆหนึ่ง หากขับร้องโดยผู้ชายก็จะได้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการขับร้องโดยผู้หญิง หรือในการบรรเลงดนตรี หากเป็นการบรรเลงเดี่ยวก็จะมีความแตกต่างไปจากการบรรเลงเป็นวง หรือบรรเลงโดยเครื่องดนตรีที่ต่างชนิดกัน ลักษณะที่แตกต่างกันนี้เรียกว่าสีสันของเสียง
                  คุณสมบัติทั้ง 4 ประการของเสียงรวมกันทำให้เกิดเสียงดนตรีที่หลากหลายจนทำให้ดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง โดยสรุปเสียงดนตรีมีได้ตั้งแต่ ต่ำ - สูง สั้น - ยาว เบา - ดัง และมีเสียงที่แตกต่างกันของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด



1.3.2 ทำนอง (Melody)
        
 ทำนองคือ การจัดเรียงของเสียงที่มีความแตกต่างกันของระดับเสียงและความยาวของเสียง โดยทั่วไปดนตรีจะประกอบไปด้วยทำนองซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ง่ายต่อการจดจำมากที่สุด ทำนองมีหลายลักษณะแตกต่างกันออกไป องค์ประกอบของทำนองที่ควรทราบได้แก่
          

จังหวะของทำนอง (Melodic Rhythm)      จังหวะของทำนองคือ ความสั้นยาวของระดับเสียงแต่ละเสียงที่ประกอบกันเป็นทำนอง 
 มิติของทำนอง (Melodic Dimensions)
       
 มิติของทำนอง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ความยาวและช่วงกว้าง
                  ความยาว (Length) ทำนองบางครั้งอาจจะสั้นๆเป็นส่วนๆ ซึ่งส่วนที่เล็กสุดหรือสั้นที่สุดเรียกว่า โมทีฟ (Motive) บางครั้งอาจเป็นทำนองที่ยาวมากๆ
                 ช่วงกว้าง (Range) คือ ระยะระหว่างระดับเสียงต่ำสุดจนถึงระดับเสียงสูงสุด 
 ช่วงเสียงของทำนอง (Register)
 
 ทำนองเพลงอาจจะอยู่ในช่วงเสียงใดช่วงเสียงหนึ่ง เช่น ในช่วงเสียงต่ำ กลาง หรือสูง บางครั้งทำนองอาจจะเคลื่อนที่จากช่วงเสียง            หนึ่งไปยังอีกช่วงเสียงหนึ่งก็ได้
ทิศทางของทำนอง (Direction)
         
ทิศทางของทำนองหมายถึง การเคลื่อนที่ของทำนอง กล่าวคือทำนองอาจจะเคลื่อนที่ไปในหลายทิศทาง เช่น เคลื่อนที่ขึ้น           เคลื่อนที่ลง หรืออยู่กับที่ โดยปกติทำนองมักจะเคลื่อนที่ขึ้นจุดสูงสุดเมื่อเนื้อหาของเพลงดำเนินไปถึงจุดสำคัญที่สุด ปกติการเคลื่อนที่ของทำนองอาจจะเป็นในลักษณะกระโดด (Disjunct Progression) หรือเรียงกันไป (Conjunct Progression) บทเพลงนั้นจะน่าสนใจ
น่าฟัง หรือชวนฉงนสงสัย ขึ้นอยู่กับผลรวมของคุณสมบัติต่างๆของทำนอง ทำนองจัดเป็นลักษณะพื้นฐานของดนตรีหรือบทเพลง
 โดยทั่วไปทำนองที่เป็นหลักในบทเพลงหนึ่งจะเรียกว่าทำนองหลัก (Main Theme) ในแต่ละบทเพลงอาจจะมีทำนองหลัก
ได้มากกว่า 1 ทำนอง
  1.3.3 เสียงประสาน (Harmony)  เสียงประสานคือ องค์ประกอบของดนตรีที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานของเสียงมากกว่าหนึ่งแนวเสียง เสียงประสานเป็นองค์ประกอบ
ดนตรีที่สลับซับซ้อนกว่าจังหวะและทำนอง แสดงถึงความประณีตในการประพันธ์ อย่างไรก็ตามในบางวัฒนธรรมอาจจะไม่พบ
การประสานเสียงของดนตรีเลย เช่น ดนตรีพื้นเมืองหรือดนตรีพื้นบ้านที่มีความเรียบง่ายของการประพันธ์ ซึ่งเป็นดนตรีที่แสดง
ถึงเอกลักษณ์ของตนเอง
       >>  การประสานเสียงนั้นมี 2 ลักษณะคือ               การประสานเสียงที่มีลักษณะของเสียงที่กลมกลืนกันและไม่กลมกลืนกัน
  เสียงประสานที่กลมกลืน (Consonance)               เสียงประสานที่กลมกลืนกันนั้น เมื่อฟังแล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกกลมกล่อม สบายหูสามารถพบได้ในหลายๆวัฒนธรรม
ดนตรี

           เสียงประสานที่ไม่กลมกลืน (Dissonance)
           
เสียงประสานที่ไม่กลมกลืนกัน เมื่อฟังแล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกขัดหู ตึงเครียด ค้างหรือแขวนอยู่ ลักษณะของเสียง
ประสานที่ไม่กลมกลืนกันมักจะไม่พบในวัฒนธรรมดนตรีตะวันออก แต่ในวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกจะมีการใช้เสียงประสาน
ในรูปแบบนี้

 1.3.4 จังหวะ (Rhythm) 
          จังหวะสามารถแบ่งออกได้เป็นลักษณะสำคัญดังนี้
          อัตราจังหวะ (Meter)
       
โดยทั่วไปบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นอย่างมีระเบียบแบบแผนจะมีอัตราจังหวะที่ชัดเจน เช่น บทเพลงประเภทเพลงเถาในดนตรีไทย
จะมี 3 ท่อน ท่อนที่ 1 มีอัตราจังหวะ 3 ชั้น ท่อนที่ 2 มีอัตราจังหวะ 2 ชั้น และท่อนที่ 3 มีอัตราจังหวะ 1 ชั้นหรือชั้นเดียว โดยฉิ่งจะทำ
หน้าที่กำกับจังหวะ อัตราจังหวะ ซึ่งผู้บรรเลงมีความจำเป็นต้องทราบถึงอัตราจังหวะเหล่านี้ หรือบทเพลงในดนตรีคลาสสิคของอินเดีย
ก็จะมีอัตราจังหวะที่หลากหลาย ในวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกซึ่งมีการบันทึกดนตรีเป็นโน้ตดนตรีที่ชัดเจนอย่างมีระบบ ก็ได้แสดงหรือ
บ่งบอกอัตราจังหวะของเพลงไว้อย่างชัดเจนเช่นกัน เช่น บทเพลงในลักษณะจังหวะแบบสามช่า (cha cha cha) ก็จะมีอัตราจังหวะ
 4/4 ซึ่งหมายความว่า ในหนึ่งห้องเพลงจะมี 4 จังหวะ เป็นต้น 

ความช้า - เร็วของจังหวะ (Tempo)
       
ดนตรีทุกชนิดในโลกจะมีความช้าเร็วของจังหวะเพลง เช่นเพลงที่ใช้ประกอบการเต้นรำเพื่อความสนุกสนาน ก็อาจจะมีจังหวะที่
ค่อนข้างกระชับ รวดเร็ว ตรงกันข้ามกับเพลงที่ใช้กล่อมเด็ก ก็มีจังหวะที่ค่อนข้างช้า เป็นเรื่องของเสียงที่เคลื่อนที่ไปในช่วงเวลา 
ดังนั้นองค์ประกอบเรื่องเวลาจึงเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของดนตรี ทางดนตรีองค์ประกอบเรื่องเวลาประกอบไปด้วย
 ความเร็วของจังหวะ (Tempo) อัตราจังหวะ (Meter) และจังหวะ (Rhythm)
        ความช้า - เร็วของจังหวะ อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะช้าหรือเร็วขึ้นทันทีทันใด หรืออาจจะเป็นลักษณะค่อยๆช้าลงหรือค่อยๆเร็วขึ้น
 ซึ่งในดนตรีตะวันตกจะมีการบอกหรือแสดงเครื่องหมายไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องบรรเลงอย่างไร โดยใช้คำศัพท์ในภาษาอิตาเลียน
 เช่น
   
Prestoหมายถึง   เร็วที่สุด
Vivaceหมายถึง   เร็วมาก
Allegroหมายถึง   เร็ว
Allegrettoหมายถึง   ค่อนข้างเร็ว
Moderatoหมายถึง   ปานกลาง
Andantinoหมายถึง   ค่อนข้างช้า
Andanteหมายถึง   ช้า
Largoหมายถึง   ช้ามาก
           สำหรับในวัฒนธรรมอื่นๆมิได้มีการแสดงหรือระบุไว่าจะต้องบรรเลงอย่างไร แต่ผู้บรรเลงสามารถบรรเลงโดยมีความเข้าใจร่วมกัน เช่น ในบทเพลงเถาของไทย ผู้บรรเลงจะต้องบรรเลงให้ช้าหรือเร็วอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกำกับจังหวะของฉิ่งในแต่ละท่อนเพลง 
           1.3.5 รูปแบบ 
           ดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นอย่างมีระเบียบแบบแผน จะมีรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งได้แก่ ดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อการฟังที่เรียกว่า
 ดนตรีศิลป์ หรือดนตรีชั้นสูงของแต่ละชาติ หรือดนตรีประจำชาติ เช่น ดนตรีตะวันตกจะมีโครงสร้างของบทเพลงที่ชัดเจน บทเพลง
จะมีการแบ่งออกเป็นท่อนต่างๆ เช่น บทเพลงประเภทรูปแบบ Concerto จะมี 3 ท่อน คือ ท่อนที่ 1 เป็นแบบ Allegro มีจังหวะเร็ว
 ท่อนที่ 2 ช้า
 และท่อนที่ 3 เร็ว ในแต่ละท่อนก็จะมีรูปแบบปลีกย่อยออกไปอีก เช่น ในท่อนที่ 1 อาจจะเป็นแบบ Rondo ซึ่งแบ่งออกได้เป็น
ท่อน A B A B หรือตัวอย่างเช่นในบทเพลงไทยเดิมลักษณะรูปแบบเพลงเถา ก็จะประกอบด้วย 3 ท่อน ท่อนที่ 1 เป็นอัตราจังหวะ
 3 ชั้น ท่อนที่ 2 เป็นอัตราจังหวะ 2 ชั้น และท่อนที่ 3 เป็นอัตราจังหวะ 1 ชั้น
           อย่างไรก็ตาม เรามักจะไม่ค่อยพบรูปแบบของดนตรีหรือบทเพลงที่ชัดเจนในดนตรีพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นดนตรีที่
ประพันธ์ขึ้นเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ซึ่งมิได้คำนึงถึงหลักการประพันธ์แต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น