วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความรู้พื้นฐานทางดนตรี

ความรู้พื้นฐานทางดนตรี  (The Fundamental of Music) 
วัตถุประสงค์
         1. เพื่อให้นิสิตทราบถึงการกำเนิด วิวัฒนาการ การแบ่งแยกประเภทของดนตรีและเครื่องดนตรี ตลอดจนการเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์
         2. เพื่อให้นิสิตทราบถึงองค์ประกอบของดนตรี


         ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่อยู่เคียงคู่โลกมาช้านาน และด้วยมันสมองที่ชาญฉลาดของมนุษย์ จึงได้สร้างสรรค์ดนตรีที่สวยงามขึ้นในแต่ละช่วงกาลเวลา
1.1 ดนตรีกับมวลมนุษยชาติ           ดนตรีอาจจะนิยามได้ว่า เป็นเสียงที่ร้อยเรียงอย่างมีระเบียบระบบ ซึ่งเมื่อไปกระทบกับโสตของผู้ฟัง สามารถทำให้เกิดความผันแปรทางอารมณ์ขึ้นมาได้ 
1.1.1 กำเนิดของดนตรี              เป็นการยากที่จะกล่าวหรือระบุได้ว่าดนตรีเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานมาอ้างอิงได้อย่างแน่ชัด จึงได้แต่เพียงสันนิษฐานและตั้งข้อสังเกตจากโบราณวัตถุหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยสันนิษฐานตามหลักการและเหตุผล และคำนึงถึงความเป็นไปได้มากที่สุด ข้อสันนิษฐานที่เกี่ยวกับกำเนิดของดนตรีมีดังนี้
 1. ดนตรีอาจจะเกิดจากการที่มนุษย์พยายามร้องเลียนเสียงสัตว์ต่างๆรวมทั้งนกหลายๆชนิด ถึงแม้ว่าเสียงสัตว์เหล่านี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นดนตรีตามความหมายที่เข้าใจกัน แต่การรู้จักร้องเลียนเสียงสัตว์เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะเป่าเขาสัตว์ กระดูกสัตว์ หรือปล้องไม้ไผ่ในเวลาต่อมา
         นอกจากนี้มนุษย์ยังเรียนรู้ที่จะประดิษฐ์เสียงต่างๆจากการนำวัสดุมากระทบกัน เช่น นำไม้มาเคาะกับไม้ หรือนำไม้มาเคาะกับหิน เป็นต้น แต่แรกเริ่มก็คงมีวัตถุประสงค์เพื่อไล่ หรือข่มขู่สัตว์ให้เกรงกลัว ภายหลังจึงได้นำมาประกอบการร้องรำทำเพลง
         2. ดนตรีอาจจะเกิดจากการยกระดับเสียงการพูดคุยธรรมดาของมนุษย์
         3. ดนตรีอาจจะเกิดจากจังหวะที่ใช้ประกอบการทำงาน มนุษย์พบว่าเมื่อร้องเพลงประกอบการทำงานบางอย่างจะส่งผลให้เกิดความสนุกสนานในการทำงาน ทำให้การทำงานไม่น่าเบื่อหรือน่าเบื่อน้อยลง เช่น การหว่านพืช การเก็บเกี่ยวพืชผล หรือการขนย้ายของขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนจำนวนมาก ดังตัวอย่างเช่น เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ชาวเรือร้องเพลงเรือระหว่างการทำงาน ชาวกรีกและชาวโรมันโบราณใช้กลองตีเป็นจังหวะประกอบการพายเรือของฝีพายเพื่อให้ได้จังหวะในการพายอย่างพร้อมเพรียงตามต้องการ 
        4. ดนตรีอาจจะเกิดจากเสียงที่เคยใช้เป็นอาณัติสัญญาณ ภายหลังจึงได้นำเสียงที่แตกต่างกันมาร้อยเรียงอย่างมีระบบระเบียบขึ้น ทำให้เกิดเป็นทำนองเพลงขึ้นมา 
          จากข้อสันนิษฐานต่างๆเหล่านี้ ไม่อาจจะสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าดนตรีเกิดขึ้นอย่างไร แต่ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ได้รวมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นดนตรีที่สมบูรณ์ขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งใช้เวลานานนับศตวรรษ 
 1.1.2 บทบาทและอิทธิพลของดนตรีต่อมนุษย์
                
ดนตรีมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตกแต่งชีวิตให้วิจิตรและมีสีสัน แต่ดนตรีเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลต่อมนุษย์เป็นอย่างมากตั้งแต่สมัยโบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อจิตใจของมนุษย์ ดนตรีสามารถกระตุ้นจิตใจให้เกิดพลังสร้างสรรค์ เกิดความฮึกเหิม เกิดความสามัคคี หรือกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยนได้ ซึ่งสามารถอธิบายได้ถึงการเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลของดนตรีต่อมนุษย์ได้ดังนี้ 
     1. ดนตรีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรมศักดิสิทธิ์ทางศาสนา เช่น ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของของชาวคริสต์ หรือการบรรเลงดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดนตรีเปรียบเสมือนเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติที่มนุษย์เคารพนับถือ ในศาสนาฮินดู ขลุ่ยถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องดนตรีแห่งองค์พระกฤษณะ เทพเจ้าองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู และเชื่อกันว่าพระกฤษณะทรงขลุ่ยเพื่อความงอกงามของพืชพันธุ์และบันดาลให้เหล่านกกาออกมาร้องเพลง นอกจากนี้ดนตรียังเข้าไปมีบทบาทสำคัญในพิธีการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น พิธีการบวช การแต่งงาน งานศพ เป็นต้น
2. ดนตรีมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยสามารถกระตุ้นจิตใจให้เกิดความฮึกเหิมขึ้นได้ เช่น การทำศึกสงครามในสมัยโบราณนั้นจะมีการประโคมแตรและกลอง ทั้งนี้เสียงแตรและเสียงกลองที่เร้าใจจะช่วยปลุกใจให้ทหารมีความฮึกเหิม และกล้าที่จะทำสงคราม ดนตรียังทำให้เกิดความสามัคคี หรือกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน เช่น การทำงานหนักหรือการทำงานที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ เมื่อมีการร้องเพลงหรือให้จังหวะอย่างพร้อมเพรียงก็จะส่งผลให้การทำงานนั้นๆบรรลุความสำเร็จได้ ในการการกล่อมเด็กนั้น นานมาแล้วที่ผู้เป็นแม่รู้ดีว่าวิธีที่ดีที่สุดในการชักจูงเด็กเล็กๆให้นอนหลับคือ การขับกล่อมเด็กด้วยเสียงเพลงที่สงบ เยือกเย็น อ่อนโยน นอกจากนี้ดนตรียังทำให้เกิดการผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมนุษย์นำดนตรีมาบรรเลงดนตรีหลังจากการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อการฟังอย่างเพลิดเพลินมีอรรถรส ตลอดจนประกอบการละเล่นต่างๆ 
3. ดนตรีเข้ามามีบทบาทในการสื่อสารของมนุษย์ มนุษย์ใช้เครื่องดนตรีประเภทเคาะ เช่น ระฆังฆ้อง และกลอง เป็นสัญญาณในการสื่อสารต่าง ๆ เช่น เพื่อการป้องกันภัย เพื่อบอกเวลา หรือเพื่อส่งสัญญาณหรือแทนสื่อข้อความต่างๆ

นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ดนตรียังเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อมนุษย์อีกมากมาย มนุษย์เราใช้ดนตรีเพื่อสื่อสารอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์แห่งความรัก ความห่วงหาอาลัย ความอึดอัดกระวนกระวายใจ ความโศกเศร้าหรือความสุข ฯ จึงถือได้ว่าดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างที่ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ 

1.2 กำเนิดและวิวัฒนาการของเครื่องดนตรี
        
เครื่องดนตรีชนิดใดถือกำเนิดขึ้นเป็นชิ้นแรกในโลกนั้น ยังเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปไม่ได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับการกำเนิดของดนตรี ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยโบราณซึ่งยากต่อการที่จะหาหลักฐานมายืนยัน ดังนั้นจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้มากที่สุด โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณวัตถุ หรือจากการเขียนภาพบนผนังถ้ำของมนุษย์ในสมัยโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่           เพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่างของเครื่องดนตรีที่หลากหลายจึงมีความจำเป็นที่ต้องแบ่งแยกประเภทเครื่องดนตรีออกเป็นกลุ่ม การจะแบ่งแยกประเภทอย่างไรนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเป็นตัวกำหนดในการแบ่งแยกประเภท เช่น วัสดุที่ใช้หรือผลิตเครื่องดนตรี การกำเนิดเสียง หรือวิธีการเล่น เป็นต้น ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในเรื่องของระบบเสียง ขนาด รูปทรง วิธีการบรรเลง ฯลฯ ทั้งนี้ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของมนุษย์ที่แตกต่างกันตามแต่ละกลุ่มชน

  ในหลายๆวัฒนธรรมได้แบ่งกลุ่มของเครื่องดนตรีออกเป็น 4 กลุ่มคือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า หรือบางวัฒนธรรมก็จะรวมเอาเครื่องดีดและสีเป็นกลุ่มเดียวกันเรียกว่ากลุ่มเครื่องสาย เช่น ในวัฒนรรมดนตรีตะวันตก แต่บางวัฒนธรรมได้จัดแบ่งกลุ่มของเครื่องดนตรีโดยมีเรื่องหลักปรัชญาทางศาสนามาเกี่ยวข้อง เช่น ในวัฒนธรรมจีนตามแบบลัทธิขงจื๊อได้จัดแบ่งกลุ่มเครื่องดนตรีออกเป็น 8 กลุ่มคือ โลหะ หิน ไม้ ดินเหนียว หนัง ไม้ไผ่ น้ำเต้า และไหม เป็นต้น
 ในปีค . ศ .1914 นักดนตรีวิทยาชื่อ อีริคส์ วอน ฮอร์นบอสเทล และ เคิร์ท ซาคค์ (Erich von Hornbostel and Curt Sachs) ได้จัดแบ่งกลุ่มเครื่องดนตรีต่างๆของโลกออกเป็น 5 กลุ่มจากวิธีการกำเนิดเสียงของเครื่องดนตรีเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มเครื่องกระทบ กลุ่มเครื่องหนัง กลุ่มเครื่องสาย กลุ่มเครื่องลม และกลุ่มเครื่องอิเลคโทรนิค ซึ่งเป็นระบบที่เป็นสากลที่สุดในปัจจุบัน
1.2.1 กลุ่มเครื่องกระทบ (Idiophones)
  
        การที่เรียกว่ากลุ่มเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่ากลุ่มเครื่องกระทบอาจจะไม่ค่อยถูกต้องตามความหมายนัก เนื่องจากคำว่า Idiophone มาจากการรวมคำ 2 คำในภาษากรีกคือคำว่า idio หมายถึง ตัวเอง และคำว่า phon ซึ่งหมายถึง เสียง ดังนั้นกลุ่มเครื่องดนตรี idiophone จึงหมายถึง เครื่องดนตรีที่เกิดเสียงขึ้นในตัวเองไม่ว่าจะโดยการตี ทุบ ขูด ดึง หรือเขย่า ทั้งนี้อาจจะมีระดับเสียงหรือไม่มีระดับเสียงก็ได้ วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น หิน ไม้ ดินเหนียว โลหะ หรือวัสดุอื่นๆ สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มแรกในโลก กล่าวคือในสมัยดึกดำบรรพ์นั้นมนุษย์ยังชีพด้วยการล่าสัตว์ อาวุธที่ใช้ในการล่าสัตว์นั้นทำจากไม้ หรือหิน เมื่อเจอสัตว์ก็จะขว้างไม้หรือก้อนหินไปที่ตัวสัตว์ อาจจะถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ก้อนหินหรือไม้ที่มนุษย์ขว้างออกไปนั้นอาจไปกระทบกับก้อนหินก้อนอื่นๆที่มีขนาดต่างกัน ทำให้เกิดเป็นเสียงที่แตกต่าง มนุษย์ก็เกิดการเรียนรู้ที่จะนำก้อนหินหรือไม้ที่มีขนาดและรูปทรงที่แตกต่างกันมากระทบกันเพื่อให้เกิดเสียง
    กล่าวกันว่ามนุษย์มีสันชาตญานของการรับรู้ในเรื่องของจังหวะตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา โดยทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะได้ยินเสียงหัวใจของแม่เต้นเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องดังนั้นเมื่อมนุษย์เกิดมาจึงสามารถเข้าใจจังหวะได้โดยธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์สามารถปรบมือหรือกระทืบเท้าได้เอง หรือเรียนรู้ที่จะตีเกราะเคาะไม้เป็นจังหวะต่างๆได้ ซึ่งได้พัฒนาเป็นจังหวะที่มีระเบียบแบบแผนในเวลาต่อม
 1.2.3 กลุ่มเครื่องสาย (Chordophones)
          กลุ่มเครื่องสายนี้กำเนิดเสียงโดยการสั่นสะเทือนของสาย อาจจะด้วยวิธีการดีดหรือสี สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นหลังจากที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ธนูเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ขึ้นมาได้ กล่าวคือเมื่อยิงลูกธนูออกไปก็จะเกิดการสั่นสะเทือนของสายธนูและเกิดเป็นเสียงขึ้น มนุษย์จึงเรียนรู้ที่จะดีดสายธนู ภายหลังจึงนำสายที่มีขนาดและความสั้นยาวต่างกันมาขึงเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดเสียงที่แตกต่าง จนพัฒนากลายเป็นพิณในเวลาต่อมา ซึ่งมีรูปทรงและระบบเสียงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้มนุษย์ยังเรียนรู้ที่จะนำหางม้ามาผูกติดกับท่อนไม้ กลายเป็นคันสี และนำมาสีกับสายเพื่อให้เกิดเสียงที่ยาวขึ้น จนพัฒนากลายเป็นเครื่องสายที่บรรเลงโดยการสีในเวลาต่อมา 
 1.2.4 กลุ่มเครื่องลม (Aerophones) 
           เมื่อมนุษย์ล่าสัตว์มาได้ นอกจากจะเอาเนื้อมารับประทานและเอาหนังมาเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว มนุษย์ได้นำเขาสัตว์ซึ่งอาจจะเป็นเขาของวัว ควาย หรือกวางชนิดต่างๆมาลองเป่าดู ปรากฏว่าเกิดเป็นเสียงดังกังวาลขึ้น มนุษย์จึงเรียนรู้ที่จะเป่าเขาสัตว์ตั้งแต่นั้นมา และพัฒนากลายเป็นเครื่องเป่าจำพวกแตร สำหรับเครื่องเป่าจำพวกขลุ่ยนั้นสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้ยินเสียงลมพัดผ่านซอกหิน หรือโพรงไม้ หรือใบไม้ มนุษย์จึงเกิดความคิดที่จะนำเอากระบอกไม้มาเป่า จนพัฒนากลายเป็นเครื่องเป่าจำพวกขลุ่ยและปี่ และยังเรียนรู้ที่จะนำใบไม้มาทำเป็นลิ้นของขลุ่ยหรือปี่ในเวลาต่อมา 
อย่างไรก็ตามร่างกายของมนุษย์ก็เปรียบเสมือนเป็นเครื่องดนตรีที่น่าอัศจรรย์ที่สุด ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีชนิดแรกของโลกที่ติดตัวมากับมนุษย์ เสียงของเครื่องดนตรีต่างๆนั้นเกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศ หรือหนังสัตว์ หรือวัสดุของแข็งต่างๆ ซึ่งร่างกายของมนุษย์มีแหล่งกำเนิดเสียงเหล่านี้
ตัวอย่างเช่น ระบบการทำงานของปอด ลำคอ เส้นเสียง และปาก ในร่างกายมนุษย์นั้น เป็นลักษณะเช่นเดียวกันกับระบบการทำงานของเครื่องเป่า กล่าวคือ ปอดทำหน้าที่บรรจุอากาศซึ่งเคลื่อนที่โดยผ่านหลอดลมในลำคอ เส้นเสียงซึ่งประกอบด้วยเส้นหนังเล็กๆหลายๆเส้นถูกทำให้เกิดการสั่นสะเทือนโดยอากาศที่มากระทบ ลำคอและปากทำหน้าที่เป็นปล่องเสียงและลำโพงเพื่อขยายเสียงให้ดังขึ้น 
            สำหรับระดับเสียงที่แตกต่างกันนั้นเกิดจากสองลักษณะคือ เกิดจากการตึงและหย่อนของเส้นเสียง หรือการเปลี่ยนรูปปาก เส้นเสียงเปรียบเสมือนสายกีต้าร์ซึ่งถูกนำมาขึง หากขึงสายให้ตึงมาก เมื่อดีดสายนั้นลงไปก็จะเกิดการสั่นสะเทือนที่มีความถี่อย่างรวดเร็ว เสียงที่เกิดขึ้นจะมีระดับเสียงสูง ตรงกันข้ามหากขึงสายให้หย่อน เสียงที่เกิดขึ้นจากการดีดนั้นจะมีความถี่ของการสั่นสะเทือนช้า ทำให้เกิดเสียงต่ำ เช่นเดียวกันกับเส้นเสียง หากเกิดการตึงตัวของเส้นเสียง เสียงที่เกิดขึ้นก็จะมีระดับเสียงสูง หากเกิดการหย่อนของเส้นเสียง เสียงที่เกิดขึ้นก็จะมีระดับเสียงต่ำ ยิ่งตึงหรือหย่อนมาก เสียงที่เกิดขึ้นก็ยิ่งสูงและต่ำมาก 


แหล่งอ้างอิง

http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0600001Saran/unit01/unit01_02.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น